สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แมวไทยโบราณ

แมวไทยโบราณ

แมวไทย

       ทั้งๆที่ได้ชื่อว่าแมวไทย แต่มีคนไทยน้อยคนที่รู้จักว่าแมวไทยพันธุ์แท้นั้นมีลักษณะรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แมวไทยพันธุ์แท้นั้นกลับไปมีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับความนิยมเลี้ยงกันมากในต่างประเทศมากกว่าในเมืองไทยถิ่นกำเนิดของมันเองเสียอีก ทั้งได้รับการยกย่องจากทั่วโลก ว่าเป็นพันธุ์อันเลิศพันธุ์หนึ่งในโลก และมีความประหลาดมหัศจรรย์ยิ่งกว่าแมวใดๆ

       เมื่อปี พ.ศ. 2427 ชาวอังกฤษ ชื่อ นายโอเวน กูลด์ (Owen Gould) กงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ได้นำแมวไทยตัวผู้และตัวเมียคู่หนึ่งจากประเทศไทย ไปฝากน้องสาวของท่านที่อังกฤษ อีกหนึ่งปีต่อมาแมวคู่นี้ถูกส่งเข้าประกวดในงานประกวดแมวที่ The Crystal Palace กรุงลอนดอน ผลปรากฎว่าได้ที่หนึ่ง ทำให้ชาวอังกฤษพากันตื่นเต้นเลี้ยงแมวไทยกันมากขึ้น จนถึงขั้นตั้งเป็นสโมสรแมวไทยเมื่อปี พ.ศ. 2443 มีชื่อว่า The Siamese Cat Clubs ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 ก็มีการตั้งสมาคมแมวไทยแห่งจักรวรรดิอังกฤษ หรือ The Siamese Cat Society of The British Empire ขึ้นอีกสมาคนหนึ่ง

       แมวไทยที่นายโอเวน กูลด์ นำไปจากเมื่องไทยนั้น มีแต้มสีครั่งหรือน้ำตาลไหม้ที่บริเวณหน้า หูสองข้าง เท้าทั้งสี่ หาง และอวัยวะเพศทั้งตัวผู้และตัวเมียรวมเก้าแห่ง นับเป็นแต้มสีที่อยู่ในตำแหน่งอันเหมาะเจาะจนเหลือเชื่อ แตกต่างจากแมวพันธุ์อื่นที่มักมีแต้มสีเลอะเทอะไม่เรียบร้อย และเมื่อนำแมวไทยไปผสมกับแมวพันธุ์อื่น ก็ได้แต้มสีตามร่างกายตามตำแหน่งเดียวกันเสมอ แต่รูปร่างจะไม่สง่างามเท่า และอุปนิสัยจะไม่ตกทอดไปยังแมวลูกผสมด้วย

นอกจากความประหลาดในเรื่องแต้มสีนี้แล้ว รูปร่างของมันก็น่ารัก ไม่ใหญ่เทอะทะเกินไป มีความงามสง่า และมีขนสั้นแน่นอ่อนนุ่มไปทั้งเรือนร่าง ทั้งยังมีดวงตาสีฟ้าสดใสลึกซึ้งเหมือนกันตาฝรั่งซึ่งแมวอื่นไม่มี แมวไทยชนิดนี้เป็นแมวไทยพันธุ์แรกที่ฝรั่งรู้จัก จึงมักเรียกกันทั่วไปว่า Siamese Cat หรือ Seal Point (แมวแต้มสีครั่ง) ส่วนในสมุดข่อยโบราณของไทยให้ชื่อแมวไทยลักษณะนี้ว่า “วิเชียรมาศ”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นผู้มอบแมววิเชียรมาศนี้ให้กับนายโอเวน กูลด์ และต่อมาทรงเห็นว่าแมวไทยเป็นสัญลักษณ์ที่สามารถทำให้ประเทศทั่วโลกรู้จักประเทศไทยดีขึ้น จึงได้พระราชทานแมวไทยให้กับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เช่น อเมริกา ในปีพ.ศ. 2433 จากผลงานของพระองศ์ ทำให้แมวไทยและประเทศไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในสมัยนั้น

คุณสมบัติสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้แมวไทยเหนือกว่าแมวอื่นใดในโลกก็คือ อุปนิสัยของแมวไทย แมวไทยมีความฉลาด รักบ้าน รักเจ้าของ มีความเป็นตัวของตัวเอง รู้จักคิด รู้จักประจบ และที่ฝรั่งยกย่องแมวไทยมากที่สุดก็คือ ความรักอิสรภาพของตัวเองเป็นชีวิตจิตใจ อิสระที่จะไปไหนก็ได้ตามใจชอบ อิสระที่จะดื่มและกินเมื่อมันกระหายหรือหิว อิสระเสรีภาพเป็นสิ่งที่แมวไทยถือเป็นบุคลิกประจำตัว และด้วยสิ่งนี้เองที่ทำให้แมวไทยเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารักที่สุดในโลก

แมวไทยจึงเป็นแมวที่ต้องเลี้ยงอย่างเป็นเพื่อน มันจะอยู่เฉพาะกับเจ้าของที่ให้ความรัก ให้ความเป็นเพื่อนกับมันเท่านั้น เป็นที่น่าประหลาดว่าการผสมพันธุ์ระหว่างแมวไทยกับแมวต่างชาตินั้น แม้ว่าจะได้แมวลักษณะรูปร่างหรือสีแบบแมวไทย แต่จะไม่ได้อุปนิสัยของแมวไทยไปด้วย นอกจากว่าจะผสมระหว่างแมวไทยด้วยกัน จึงจะคงอุปนิสัย สีสัน รูปร่างต่างๆไว้ได้อย่างครบถ้วน

ชาติพันธุ์แมว

แมวมีชื่อเรียกกันทั่วไปในภาษาลาตินว่า เฟลิส คาตัส (Felis Catus) เป็นสัตว์เก่าแก่ดึกดำบรรพ์ แมวมีอยู่ในทุกทวีป รูปร่างลักษณะและโครงสร้างคล้ายคลึงกัน แต่ขนาดอาจผิดกันและความยาวของขนต่างกัน แมวเมืองหนาวมีขนยาวกว่าแมวในเมืองร้อน แมวที่นิยมเลี้ยงกันมีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์เปอร์เซีย พันธุ์แม็ง (Manx) และพันธุ์ไทย เป็นต้น

เฉพาะแมวไทยก็ยังมีอีกหลายชนิดหลายพันธุ์ แต่คำว่า “แมวไทย” หรือ “ไซแอมมิสแคท” ที่ฝรั่งรู้จักและนิยมนั้น มิได้หมายถึงแมวทุกตัวที่อยู่ในประเทศไทย แต่หมายถึงแมวพันธุ์แท้ของไทยซึ่งออกลูกมาจะต้องมีสีและคุณลักษณะคงที่ เช่น แมวเก้าแต้ม แมวสีดอกเลา หรือสีทองแดง เป็นต้น

ชาวตะวันตกเชื่อว่า แมวนั้นเดิมเป็นสัตว์ในแอฟริกา พวกอียิปต์เอามาเลี้ยงไว้ในบ้าน แมวจึงอยู่ติดกับคนเรื่อยมา จนในที่สุดเผ่าพันธุ์ของแมวก็กระจัดกระจายไปทุกหนทุกแห่งทั่วโลก แมวพันธุ์แรกคือ พันธุ์อบิสซีเนีย ขายาว หน้าค่อนข้างแหลมยาว แล้วจึงมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะออกไปต่างๆนานาตามกลักทางชีววิทยา แต่แมวที่ยังคงลักษณะรูปเดิม คือ มีรูปร่างเพรียว หน้าแหลม ตาคม เหลือเพียงสามพันธุ์ในโลก คือ แมวอบิสซีเนียน แมวอียิบต์ และแมวไทย

แมวทั้งสามพันธุ์นี้หน้าตาไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก สองชนิดแรกนั้นสูญพันธุ์ไปแล้ว เหลือแต่ “แมวไทย” ที่นับเป็นพันธุ์เก่าแก่ที่สุดในโลกอยู่พันธุ์เดียว หนังสือบางเล่มกล่าวว่า บรรพบุรุษของแมวไทยน่าจะเป็นแมวอียิปต์ เพราะมีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายกันมาก โดยที่ทางอียิปต์เรียกแมวว่า “เมียว” สันนิษฐานว่าในการเดินเรือการค้าสมัยโบราณจากอียิปต์มาทางตะวันออก อาจจะมีกลาสีเอาแมวใส่เรือเพื่อจับหนู แมวอียิปต์จึงมาเผยแพร่ถึงทางตะวันออกก็เป็นได้ แต่ไม่มีหลักฐานใดยืนยันเรื่องนี้

ลักษณะแมวไทย

แมวที่รู้จักกันทั่วไปในประเทศไทย ลายเสือบ้างแต้มขาวดำบ้าง ตาสีเหลือง ตัวค่อนข้างใหญ่ เหล่านี้ไม่ใช่แมวไทย ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเป็นแมวจีนหรือแมวจากที่อื่นติดเรือมาในการค้าขายในสมัยโบราณ เพราะพวกชาวเรือชอบเลี้ยงแมวไว้กำจัดหนูซึ่งเป็นศัตรูแก่สินค้าของตน

คนไทยนิยมเลี้ยงแมวกันมาตั้งแต่โบราณกาล จนถึงกับแต่งตำราแมวไทยไว้ ตำราเล่มเก่าแก่ที่สุดเป็นมุดข่อย บอกลักษณะแมวดีให้คุณ 17 ชนิด และแมวให้โทษอีก 6 ชนิด แต่งเป็นโคลงอันไพเราะ ไม่แจ้งชื่อผู้แต่ง ใช้ตัวสะกดการันต์แบบโบราณ ไม่ทราบว่าแต่งขึ้นในสมัยใด ต้นเล่มกล่าวว่าฤาษีสององค์เป็นผู้สร้างแมวขึ้น มีภาพสีเขียนภาพแมวชนิดต่างๆประกอบเรื่อง

จากตำรานี้ ทำให้ทราบว่าแมวไทยที่เลี้ยงไว้ให้คุณ มี 17 ชนิด บางชนิดไม่เคยมีใครได้พบเห็นเลย ดังต่อไปนี้

  1. แมวชื่อ รัตนกัมพล มีสีขาวเหมือนหอยสังข์ แต่ที่รอบตัวตรงส่วนอกมีลักษณะคล้ายสายคาดสีดำ นัยน์ตาเป็นประกาย “ใครเลี้ยงจักมียศถา มีเดชานุภาพแก่คนเกรงกลัว”
  2. แมวชื่อ วิเชียรมาศ เป็นแมวสีขาว ปาก หาง เท้าทั้งสี่ หูทั้งสอง รวมแปดแห่งมีสีดำ (เข้าใจว่าหมายถึงสีเข้ม) นัยน์ตามีประกายสดใส แมวนี้ “มีคุณยิ่งล้ำนักหนา จักนำโภคาพิพัฒน์ สมบัติเพิ่มพูล”
  3. แมวชื่อ ศุภลักษณ์ หรือ ทองแดง มีสีกายเป็นสีทองแดงล้วน นัยน์ตาเป็นประกาย “ใครเลี้ยงจักได้ยศถา ยิ่งพ้นพรรณนา เป็นที่อำมาตย์มนตรี”
  4. แมวชื่อ เก้าแต้ม มีขนขาวและแต้มสีดำรวมเก้าแต้ม คือ ที่คอ หัว ต้นขาหน้าทั้งสอง ไหล่ทั้งสอง ต้นขาหลังทั้งสอง และที่ท้ายตัว แมวนี้ “เสมออย่างม้าเทศมีสี แม้นใครเลี้ยงดี ค้าขายจะได้โภคา”
  5. แมวชื่อ มาเลศ หรือ ดอกเลา มีขนสีดอกเลาเปรียบเหมือนกันเมฆสีเทายามฟ้าพยับฝน นัยน์ตาหยาดเยิ้มประหนึ่งน้ำค้างย้อยต้องกลีบบัว “ใครพบเร่งให้อุปถัมภ์ แมวนั้นจะนำซึ่งสุขสวัสดิมงคล”
  6. แมวชื่อ แสมเสวต มีขนดำแซมขาว ขนบางสั้น รูปร่างเพรียว นัยน์ตาดั่งแสงหิ่งห้อย แมวนี้ “เลี้ยงดีมีคุณนักหนา จงเร่งหามาเลี้ยงเทอญอย่าแคลงสงสัย”
  7. แมวชื่อ นิลรัตน์ มีขนดำสนิท รวมทั้งฟัน นัยน์ตา เล็บ ลิ้น ก็มีสีดำด้วย หางยาวตวัดได้ถึงหัว ถ้าใครเลี้ยงไว้ “ย่อมจะมีคุณเอนกา ศฤงคารโภคา จะเนื่องเป็นนิจบริบูรณ์”
  8. แมวชื่อ วิลาศ ตรงราวคอลงมาถึงใต้ท้องและสองหู รวมทั้งหางและขาทั้งสี่มีสีขาวเหมือนดอกฝ้าย นัยน์ตาสีเขียว นอกนั้นตลอดตัวมีสีดำ “แม้ใครเลี้ยงโดยหมาย จักได้เป็นนายผู้ใหญ่ เลื่อนที่ถานา ศฤงคารโภคา ทรัพย์สินจักมาเนืองๆบริบูรณ์พูลมี”
  9. แมวชื่อ นิลจักร เป็นแมวสีดำสนิท แต่ที่รอบคอมีขนสีขาวอยู่โดยรอบ ราวกับปลอกคอสีขาว “กายดำคอขาวรอบขน ใครเลี้ยงเกิดผล ทรัพย์สินสมบัติมากมี”
  10. แมวชื่อ มุลิลา เป็นแมวสีดำ สองหูมีสีขาว นัยน์ตาสีเหลืองราวดอกเบญจมาส แมวนี้ “หนึ่งด่างสองหูโดยหมายตำราท่านทาย ว่าควรจะเลี้ยงแต่สงฆ์ เล่าเรียนสิ่งใดมั่นคง มิได้ลืมหลง สำเร็จดังความปรารถนา”
  11. แมวชื่อ กรอบแว่น หรือ อานม้า เป็นแมวสีขาว แต่มีขนสีดำตรงกลางหลังประหนึ่งอานม้า และที่รอบดวงตาทั้งสองข้างก็มีขนสีดำประหนึ่งกรอบแว่นตา แมวนี้ “ตีค่าแสนตำลึงทองคำ ใครเลี้ยงจักนำเกียรติยศมาให้เจ้าตน”
  12. แมวชื่อ ปัดเศวต หรือ ปัดตลอด เป็นแมวสีดำตั้งแต่ปลายจมูกมาจดปลายหางมีริ้วขาว นัยน์ตาเป็นประกายพลอยสีเหลือง “หนึ่งด่างปัดตลอดสอดสี ตำราว่าดี ใครเลี้ยงจักรยิ่งตระกูล”
  13. แมวชื่อ กระจอก เป็นแมวตัวกลมงามมีสีดำ มีลายขาวเหมือนเมฆที่รอบปาก นัยน์ตาสีเหลือง แมวนี้ถ้าเลี้ยงไว้ “จะได้ที่แดนไร่นา ทรัพย์สินโภคา ถ้าไพร่จักได้เป็นนาย”
  14. แมวชื่อ สิงหเสพย์ เป็นแมวสีดำ ริมฝีปาก จมูกและรอบคอสีขาว นัยน์ตาเป็นประกายสีเหลือง “กายดำคอขาวรอบขน ใครเลี้ยงเกิดผล ทรัพย์สินสมบัติมากมี”
  15. แมวชื่อ การเวก มีสีดำล้วน จมูกขาวราวเขียนไว้ นัยน์ตาเป็นประกายสีทอง “ใครเลี้ยงจักได้ถานา ในเจ็ดเดือนตรา พระยาจะให้ลาภหลาย”
  16. แมวชื่อ จตุบท เป็นแมวดำ เท้าทั้งสี่มีสีขาว นัยน์ตาสีเหลืองเหมือนดอกโสน “หนึ่งสีเท้าด่างขบขัน ท่านว่าควรกัน ให้เลี้ยงแต่ราชินิกูล แมวนั้นย่อมจะให้คุณ”
  17. แมวชื่อ โกญจา มีสีดำขนละเอียด นัยน์ตาสีดอกบวบแรกแย้ม หางเรียว ท่าทางเดินสง่าเหมือนสิงโต “แมวนี้เลี้ยงดีมีคุณนักหนา จงเร่งหามา เลี้ยงเทอญอย่าแคลงสงสัย”

ส่วนแมวร้ายให้โทษมี 6 ชนิด คือ

  1. แมวชื่อ กอบเพลิง เป็นแมวที่มักจะคอยซ่อนหลบกาย พอเห็นคนเดินมาก็รีบวิ่งหนี เป็นแมวที่ให้โทษถ้าเลี้ยงไว้
  2. แมวชื่อ พรรณพยัคฆ์ หรือ ลายเสือ มีลายเหมือนเสือ ขนเหมือนชุบด้วยเกลือกับแกลบ นัยน์ตาสีแดงเจือสีเปลือกตม เสียงร้องเหมือนเสียงผีโป่งร้องอยู่ตามป่าเขา
  3. แมวชื่อ ปีศาจ เป็นแมวที่ออกลูกแล้วกินลูกหมด ขนสากและตัวผอม หนังยาน
  4. แมวชื่อ หินโทษ เป็นแมวที่ลูกมักตายในท้อง มักนำภัยพิบัติมาสู่บ้าน
  5. แมวชื่อ ทุพพลเพศ มีสีขาว แต่ดวงตาสีแดงดังโลหิต ลักปลาไปกินทุกคืน
  6. แมวชื่อ เหน็บเสนียด ลักษณะเหมือนค่าง เอาหางขนดซ่อนไว้ใต้ก้นเสมอ รูปร่างพิกลพิการ

เท่าที่กล่าวมานี้เป็นแมวไทยตามคติของไทยแต่โบราณ ซึ่งแตกต่างกับแมวไทยตามคติของฝรั่ง ในสารานุกรมแมวของเกรซ พอนด์ กล่าวว่าแมวไทยมี 8 ชนิด คือ

1.ช็อกโกแลตพ้อยท์

2.บลูพ้อยท์

3.ไลแลคพ้อยท์

4.เรดพ้อยท์

5.ซีลพ้อยท์

6.แท็บบี้พ้อยท์

7.โคราช

8.คอปเปอร์

แมวชนิดที่ 1-6 ส่วนมากมีพื้นสีอ่อนแต้มสีเข้ม เรียกชื่อต่างกันตามความเข้มของสีขนซึ่งมีสีคล้ายคลึงกัน ส่วนชนิดที่ 7 ก็คือแมวสีขนดอกเลา และชนิดที่ 8 ก็คือแมวสีทองแดง

ในหนังสือแมวไทยบางเล่มที่ชาวต่างประเทศเขียนไว้ แบ่งชนิดแมวไทยไว้เพียง 4 ชนิด คือ

1.ซีลพ้อยท์ ซึ่งมี หน้า หู ขา เท้า และหางเป็นสีน้ำตาลเข้ม

2.บลูพ้อยท์ มีสีเทาค่อนไปทางสีฟ้าอ่อน

3.ช็อกโกแลตพ้อยท์ สีเหมือนกับโกโก้

4.ฟรอสต์พ้อยท์ มีสีเทาน้ำเงิน

      นักเลี้ยงแมวไทยท่านหนึ่ง คือ คุณชมพู อรรถจินดา มีความเห็นว่า แมวไทยนั้นมี 3 ชนิด คือ แมวที่รู้จักกันทั่วๆไปในสมัยนี้ ซึ่งเรียกอย่างง่ายๆว่า Siamese Cat มีรูปกายและมีสีนัยน์ตา และสีตามส่วนปลายของอวัยวะต่างๆดังกล่าวข้างต้นนั้นประเภทหนึ่ง กับแมวสี Blue หรือที่เราเรียกว่า “สีสวาด” หรือเรียกว่า “แมวโคราช” นั้นอีกประเภทหนึ่ง กับแมวสีนากที่ฝรั่งเรียกว่า Copper ซึ่งฝรั่งทั่วๆไป เรียกกันว่าเป็นแมวพม่า นั้นอีกพวกหนึ่ง

      ส่วนแมวไทยที่ฝรั่งรู้จักครั้งแรก เมื่อได้พันธุ์ที่สมุดข่อยเรียกว่า “วิเชียรมาศ” นั้นไปจากราชสำนักไทย ครั้งแรกจึงเรียกว่า Royal Siamese ซึ่งความจริงในครั้งโบราณแมวพันธุ์นี้ก็ยังคงมีไม่มากนัก เป็นแมวที่สมุดข่อยโบราณยกย่องนักหนาว่า ใครได้เลี้ยงไว้แม้แต่เพียงตัวเดียวก็จะได้เป็นขุนนาง ฉะนั้นถ้าจะให้เดาต่อไปอีกคงไม่มีปัญหาว่าแมวดีอย่างนี้อยู่ที่ไหน ก็คงจะต้องเข้าไปอยู่ในราชสำนัก หรืออย่างน้อยก็บ้านใหญ่ของเจ้าขุนมูลนาย คงจะไม่มีเหลืออยู่ตามชาวบ้านเป็นแน่ แมวพันธุ์นี้มีรูปกายสีนวล แต้มตามตอนปลายของอวัยวะเป็นสีน้ำตาลไหม้ ภาษาที่ฝรั่งเรียกสำหรับแยกประเภทแมวชนิดนี้จึงเรียกว่า Seal Point อาจจะเรียกเป็นภาษาไทยว่า “แต้มสีครั่ง” เพราะศัพท์เดิมเขาให้ศัพท์เรียกสีแต้มตอนปลายของอวัยวะต่างๆ ว่า Dark Seal Brown คือสีตราครั่งประทับเป็นสีน้ำตาลไหม้นั่นเอง แมวพันธุ์นี้ที่หู หาง เท้า และหน้ากากเป็นสีน้ำตาลไหม้ ยิ่งตอนหูด้วยแล้วยิ่งไปตอนปลายสียิ่งเข้มจัดจนเป็นสีน้ำตาลไหม้ดำเกรียม แมวพันธุ์นี้ฝรั่งเรียกเลือนๆไปก็กลายเป็นเรียกว่า Siamese Cat เฉยๆ จึงเป็นที่รู้จักกันทั่วๆไปว่า เป็นแมว Seal Point แมวซึ่งมีรูปกายอย่างแมวไทย มีนัยน์ตาสีฟ้า มิใช่มีแต่เฉพาะแต้มสีน้ำตาลไหม้อย่างเดียว ฝรั่งได้เลือกแมวซึ่งมีสีตอนปลายของอวัยวะเป็นแต้มสีฟ้าหม่น ก็อุตส่าห์เลี้ยงถนอมพันธุ์จนกลายเป็นพันธุ์แน่นอนขึ้น ฝรั่งรักษาพันธุ์แมวแต้มสีฟ้าหม่นนี้จนมีมากขึ้น แล้วก็ตั้งสมาคมขึ้น เรียกแมวพันธุ์นี้ว่า Blue Point

      การประกวดแมวแต่เดิม แม้แต่ฝรั่งเองก็ยังไม่ยอมรับแมวพันธุ์นี้ว่าเป็นแมวไทยแท้ จนเมื่อยี่สิบกว่าปีมานี้เอง ด้วยการต่อสู้ของสมาคม Blue Pointed Siamese Cat Club ในที่สุด ผสมให้ดูมาหลายชั่วอายุและรักษาพันธุ์ประวัติไว้ด้วย สมาคมแมวไทยในต่างประเทศก็จำนน และยอมรับว่าแมวพันธุ์นี้เป็นแมวพันธุ์แท้ของไทย เราจึงมีแมว Blue Pointed Siamese หรือ Blue Point เป็นแมวไทยพันธุ์แท้อีกพันธุ์หนึ่ง จะเรียกแมวพันธุ์นี้เป็นภาษาไทยว่า “แต้มสีฟ้า” เพราะแต้มตามอวัยวะตอนปลายทั้ง 8 หรือ 9 แห่งแทนที่จะเป็นสีน้ำตาลไหม้ตามแบบSeal Point ก็เป็นสีฟ้าหม่นตั้งแต่หน้ากาก สองหู สี่เท้าและหางเป็นสีฟ้าหม่นจัด สวยงามและผสมพันธุ์ได้รูปอย่างเดียวกันตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลง นัยน์ตาคงสีฟ้าสดใสลึกซึ้ง ส่วนสีตัวเป็นสีดอกเลา แมวพันธุ์นี้พบในสมุดข่อยเรียกว่า “ดอกเลา” เป็นแมวพันธุ์ซึ่งโบราณยกย่องไม่น้อยกว่าพันธุ์วิเชียรมาศเหมือนกัน

       เมื่อฝรั่งได้พบว่าแมวไทยนั้นมิใช่มีอย่างเดียว แมวแต้มสีฟ้าก็มีได้ดังนี้แล้ว ฝรั่งก็เกิดความคิดลองผสมให้แต้มต่างๆเป็นสีน้ำตาลหรือสีช็อกโกแลตอ่อน ซึ่งฝรั่งเรียกช็อกโกแลตใส่นม ได้พันธุ์ใหม่ขึ้นอีกพันธุ์หนึ่ง รูปกายอย่างเดียวกับแมวไทยทุกประการ ตาสีฟ้า สีขนของตัวเป็นสีครีม หรือสีนวล แต่แต้มต่างๆตอนปลายของอวัยวะ 8 หรือ 9 แห่งนั้นเป็นสีช็อกโกแลตอ่อนหรือที่เรียกว่าสีน้ำตาลก็ได้ ฝรั่งให้ชื่อว่า Chocolate Point (แต้มสีน้ำตาล) จากนั้นฝรั่งก็ได้ใจคิดว่าแมวไทยผสมออกไปได้อีก จึงเดิดมีแมวแต้มสีดำ คือ สีตัวขาว แต้มตอนปลายอวัยวะทุกแห่งเป็นสีดำ (Black Point)

       จากนั้นฝรั่งผสมต่อไปโดยใช้ Chocolate Pointแต้มสีน้ำตาลผสมกับ Blue Pointแต้มสีฟ้า ได้สีใหม่ ถ้าสีเรียบทั้งตัวเป็นสีกลีบบัว ฝรั่งเรียก Lavender แล้วผสมต่อไปให้สีกลับบัวมีอยู่เฉพาะแต้มตอนปลายของอวัยวะ 8 หรือ 9 แห่งนั้น ส่วนตัวเป็นสีขาว เข้าเชื่อกันว่าถ้าได้บริบูรณ์แล้ว แมวนี้จะเรียกว่า Lilac Point เขาอธิบายสีนี้ว่าเป็นสี Pinkins Purple (แต้มสีกลีบบัว)

       ความพยายามของฝรั่งได้เลยนึกไปถึงสีจำปา หรือเรียกว่าสีเหลืองหรือสีขมิ้นดังที่เห็นในสีแมวลายเสือในบ้านเรานั้น เอามาผสมกับแมว Seal Point หรือแต้มสีครั่งของแมวไทย ประสงค์ที่จะได้พันธุ์ใหม่ชื่อว่า Red Point (แต้มสีแดง) แมวพันธุ์นี้จะมีรูปกายสีขาวบริสุทธิ์ เว้นแต่แต้มตรงหน้ากาก, สองหู, สี่เท้า และหางนั้นจะเป็นสีแดง แมวสองพันธุ์สุดท้ายที่กล่าวถึงนี้ คือแต้มสีกลีบบัว และแต้มสีแดง เป็นความฝันของนักผสมแมวฝรั่ง ซึ่งเท่าที่ทราบผสมแล้วได้พันธุ์เป็นผลการผสมหลุดออกมาบ้าง แต่ยังได้สีไม่เข้มตลอดทุกจุดตามปลายอวัยวะทั้ง 8 แห่ง คงได้ชัดขึ้นมาเฉพาะตรงหน้ากาก หู และหาง ส่วนตอนเท้ายังไม่เข้มจัด

       การที่ฝรั่งพยายามผสมพันธุ์นั้น ชั้นเดิมมิได้ผสมแต่เฉพาะในระหว่างแมวไทย ได้ลองผสมแมวไทยกับแมวเปอร์เซีย และแมวพันธุ์อื่นๆ ก็ได้แต้มตามจุดอวัยวะในรูปแบบของแมวไทยเหมือนกัน แต่รูปกายไม่ยอมเปลี่ยนมาเป็นแมวไทย พวกขนยาวก็คงยาวต่อไป นัยน์ยาบางทีก็ทำได้ตาสีฟ้าแบบแมวไทยก็ตาม แต่รูปกายจะไม่สง่างามตามรูปของแมวไทย แต่ร้านที่สุดก็คืออุปนิสัยของแมวไทย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้แมวไทยดีล้ำเลิศไม่มีแมวใดเสมอเหมือนนั้น ไม่ยอมตกทอดไปเป็นสมบัติของแมวลูกผสมกับแมวชาติอื่น อุปสรรคนี้ถึงกับทำให้ฝรั่งท้อใจ และหันกลับมาผสมแมวไทยกับแมวไทยต่อไป แทนที่จะผสมข้ามพันธุ์ไปกับแมวชาติอื่น

       ส่วนแมวแต้มสีน้ำตาลนั้น ฝรั่งเห็นว่าผสมได้มาจาก Seal Point คือแมวสีครั่งนั่นเอง โดยทำให้สีดำที่อยู่ตามแต้มสีครั่งตกหายไปเหลือแต่สีน้ำตาล และตามประวัติกล่าวว่า แมวแต้มสีน้ำตาลได้จากครอกของการผสมแมวแต้มสีครั่ง แต่เป็นสีอ่อนหลุดออกมา

แมวอีกแบบหนึ่ง สีขาวปลอด ตาสีฟ้า รูปกายทางโครงกระดูกดูเป็นรูปแมวไทยทุกประการ เป็นแมวไทยอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน

       อีกท่านหนึ่งคือ คุณพิชัย วาสนาส่ง ได้เคยวิเคราะห์เปรียบเทียบตำราแมวไทยทั้งของไทยและของต่างประเทศ ให้ข้อสังเกตว่าพวกฝรั่งมักแยกสีของแมวละเอียดลออมากเกินไปตามสีที่ผิดเพี้ยนกันเล็กๆน้อยๆ แมวไทยพันธุ์แท้ถ้าจะดูตามสีพื้นแล้ว น่าจะแบ่งได้เป็นสี่พันุ์เท่านั้นคือ

    โคราช หรือ มาเลศ หรือ ดอกเลา ดังโคลงอธิบายลักษณะว่า

             วิลามาเลศพื้น               พรรณกาย

            ขนดังดอกเลาราย                      เรียบร้อย

            โคนขนเมฆมอปลาย                  ปลอมเศวต

            ตาดั่งน้ำค้างย้อย                       หยาดต้องสัตบง

           สีแมวโคราชจึงเป็นสีดอกเลาหรือสีลูกสวาด ซึ่งเมื่อสดมีสีเทาแก่ ถ้าถูกแดดสีจะเข้มและออกประกายสีม่วงเหมือนสีแมวโคราช ซึ่งเป็นแมวขนสีเทาเข้มล้วน    

      บลูพ้อยท์ หรือน่าจะเทียบได้กับแมวแซมเศวต

            ขนดำแซมเศวตสิ้น        สรรพางค์

            ขนคู่โลมกายบาง                       แบบน้อย

            ทรงระเบียบเรียบสำอาง              เรียวรุ่น งามตา

            ตาดั่งแสงหิ่งห้อย                       เปรียบน้ำทองทา

            ตามที่กล่าวว่าขนสีดำแถบขาวนั้น ถ้าลองผสมสีดูก็เป็นสีเทาทั้งตัว และมีสีเทาเข้มที่ปาก สองหู สี่ขา และหาง ถ้าอ่อนมากลงไปอีกก็จะตรงกับไลแลคพ้อยท์

      ซีลพ้อยท์ เรดพ้อยท์ และ ช็อกโกแลตพ้อยท์ น่าจะตรงกับแมวชื่อ วิเชียรมาศ มีแต้มตามลักษณะดังนี้

            ปากบนหางสี่เท้า           โสตสอง

            แปดแห่งดำดุจปอง                    กล่าวไว้

            สีเนตรดังเรืองรอง                       นาคสวาดิ ไว้เอย

            นามวิเชียรมาสไซร้                     สอดพื้นขนขาว

            สีเข้มแปดแห่งคือ ที่ปาก สองหู สี่ขา และหางตามที่โคลงบอกไว้ว่ามีสีดำนั้น อันที่จริงคงจะเป็นสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำนั่นเอง เพราะคนโบราณมักจะเรียกสีผิดเพี้ยนอยู่เสมอ และขนสีขาวคงจะไม่ขาวสนิททีเดียว แต่เป็นสีอ่อนๆอย่างแมวไทย แต้มอาจมีสีครั่ง สีน้ำตาลเข้ม หรือสีโกโก้

     คอปเปอร์ หรือ ศุภลักษณ์ หรือ ทองแดง มีลักษณะดังนี้

            เฉิดโฉมศุภลักษณ์ล้ำ      วิลาวรรณ

            สีดังทองแดงฉัน                         เพริศแพร้ว

            แสงเนตรเฉกแสงพรร                  โณภาส

            กันสรรพโทษแคล้ว                     สิ่งร้ายคืนเกษม

            แมวพันธุ์นี้มีสีทองแดง ตรงกันทั้งตำราไทยและตำราฝรั่ง

Tags : แมวไทย.com เลี้ยงและอนุรักษ์สายพันธุ์แมววิเชียรมาศ แมวขาวมณีและมีอาหารแมว super cat กับทรายแมว ketty love ยาสามัญประจำบ้านแมว รวบรวมบทความเกี่ยวกับแมวมาฝากกัน

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view